วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คุณธรรมกับครู

คุณธรรมกับครู

            สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมายในทุกด้าน ซึ่งก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตอยู่ทั่วไป วิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่นประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย แต่ในขณะเดียวกันมีหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมไทยที่มีสภาพอ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกขัดแย้งในสังคมจนเกิดเป็นความรุนแรง การใช้อาวุธ การเสพสารเสพติด ครอบครัวแตกแยก การทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะการทุจริต คอรัปชั่น รวมถึงการโกงการเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ ได้เกิดขึ้นมากมายและต่อเนื่อง ขยายตัว ขยายวง ขยายรูปแบบและวิธีการมากขึ้นจนน่ากลัว คนในสังคมมุ่งให้ความสำคัญทางด้านวัตถุมากกว่าการทำความดี และมีจิตสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค “วิกฤตทางคุณธรรมความดี” ทำให้พลเมืองด้อยประสิทธิภาพ แม้เราไม่สามารถขจัดสิ่งเหล่านั้นไปได้ แต่สามารถยับยั้งการเกิดได้ นั่นคือการพัฒนาเยาวชนอันเป็นความหวังของชาติ โดยมีครูและสถานศึกษาเป็นหนึ่งตัวขับเคลื่อนสำคัญในการจะผลิตให้เด็กเป็นคนดี มีคุณธรรม และพลเมืองดีของสังคม ซึ่งครูจะต้องรู้สาเหตุของความอ่อนแอของสังคม รู้ถึงการปลูกฝังคุณธรรมที่ต้องมีในตัวผู้เรียน และรู้แนวทางการพัฒนาค่านิยมที่ดีและคุณธรรมในเยาวชน


            สาเหตุที่ทำให้สังคมอ่อนแอเสื่อมถอยในปัจจุบัน มีหลายปัจจัยด้วยกันอย่างอันได้แก่ คนในสังคมไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องคุณธรรมอย่างจริงจัง เน้นค่านิยมทางด้านวัตถุเป็นหลัก ลุ่มหลงกับทรัพย์สินเงินทอง สิ่งยั่วยุต่างๆ มองว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างและความดีไม่ได้ทำให้ชีวิตตนนั้นมีความสุขสบาย คนดีจะเป็นผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนที่มีเงินมากจะเป็นที่ยอมรับในสังคม จะกดขี่ข่มเหงหรือทำอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการโดยขาดความรับผิดชอบและรู้สึกสำนึกผิด ยอมรับพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน คิดว่าการทุจริตและโกงเป็นเรื่องธรรมดาปกติ ละเลยหน้าที่ตนเองและความสำคัญของส่วนรวม เห็นแก่ตัว มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน เยาวชนไทยของเราขาดการปลูกฝังในด้านคุณธรรม และมีค่านิยมที่ผิด โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต การคดโกง จะเห็นได้ว่าการโกงมีอยู่ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงการโกงกินประเทศซึ่งเราสามารถเห็นตัวอย่างการโกงเล็กๆได้จากที่โรงเรียน นั่นก็คือการลอกการบ้านหรือลอกข้อสอบ ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นมักคิดว่า ไม่เป็นไร แค่ลอกนิดเดียวเท่านั้น อาจารย์ไม่รู้ จับไม่ได้แน่นอน แค่การคิดเช่นนั้นเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการเริ่มต้นในการสร้างนิสัยที่คดโกง ไม่ละอายหรือเกรงกลัวต่อความผิด และเมื่อเติบโตขึ้นไป ก็จะเป็นพลเมืองที่ไร้คุณธรรม ทุจริต รับสินบน ดังนั้นครูจึงต้องมีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่ดีให้แก่ตัวผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักละอาย และเกรงกลัวต่อความผิด ไม่ยอมรับและต่อต้านพฤติกรรมการทุจริต การคดโกง รู้จักรับผิดชอบ และคิดดี ทำดี

            การปลูกฝังคุณธรรมในตัวผู้เรียนนั้น ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควรว่า ครูควรปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการแก่เยาวชนไทย อันได้แก่ ความขยัน หมายถึง มีความตั้งใจเพียรพยายามในการทำหน้าที่การงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ รักงานที่ทำ อดทนไม่ท้อถอยเมื่อพบอุปสรรค การประหยัด หมายถึง เป็นผู้ที่รู้จักเก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สิน สิ่งของให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ความซื่อสัตย์ หมายถึง เป็นผู้ประพฤติตรง ไม่เอนเอียง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีความจริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียงหรืออคติ การมีวินัย หมายถึง การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และข้อปฏิบัติ เป็นผู้ที่มีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม ความสุภาพ หมายถึง มีความเรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม เป็นผู้ที่มีความสุภาพ มีสัมมาคารวะ ความสะอาด หมายถึง เป็นผู้รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ มีจิตใจที่แจ่มใสอยู่เสมอ ความสามัคคี หมายถึง ผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่าง พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการมีน้ำใจ หมายถึง เป็นผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคมเพื่อบรรเทาปัญหาหรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชนรู้จักแบ่งปัน เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ เห็นใจ ผู้ที่มีความเดือดร้อน โดยมีจุดเน้นเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข ด้วยการใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบัน การศึกษา ดังนั้นการปลูกฝังคุณธรรมจึงหมายถึง การจัดสภาพการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นคุณค่าของการมีศีลธรรมและจริยธรรมในด้านต่างๆ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรมที่ดีงาม โดยครูเป็นผู้กำหนดแนวทางในการพัฒนาให้นักเรียนมีคุณธรรม ตามลักษณะคุณธรรมอันพึงประสงค์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

            แนวทางในการพัฒนาค่านิยมที่ดีและคุณธรรมในเยาวชนนั้น เนื่องจากเรื่องคุณธรรมเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมในตัวบุคคลและค่อนข้างซับซ้อน ครูจึงต้องพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยครูและสถานศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้เป็นที่สะอาดร่มรื่น ใกล้ชิดธรรมชาติ มีบรรยากาศของคุณธรรมจริยธรรมที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ และถือเป็นแบบอย่างได้ด้วยตนเอง ให้เด็กมีโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ทางคุณธรรมจริยธรรมด้วยวิธีการและจากแหล่งที่หลากหลาย ทั้งจากเพื่อน ครู ครอบครัว ชุมชน และสังคม มีการสอดแทรกการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในทุกวิชา พยายามใช้วิธีการที่สอดคล้องกับวัยและธรรมชาติของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สนับสนุนให้กำลังใจ ให้โอกาส ใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ และให้รางวัลด้วยวิธีการที่เหมาะสม ครูจะต้องเป็นผู้ที่รักเด็กและเด็กรัก กิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติร่วมกับเด็กต้องมาจากพื้นฐานของความรักและความเข้าใจระหว่างกัน การให้รางวัลหรือการลงโทษต้องกระทำโดยรวดเร็ว สำหรับการให้รางวัลควรจัดให้ถูกต้องสอดคล้องกับเด็กแต่ละวัย ทั้งการสัมผัสทางกาย ชมเชยยกย่อง ประกาศเกียรติคุณ มอบเครื่องหมายแห่งความดี เช่น ถ้วย โล่ ฯลฯ ส่วนการลงโทษ เพื่อให้เกิดผลดีควรดำเนินการดังนี้ คือ ครูลงโทษตามเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ ให้เด็กเข้าใจชัดเจนโดยไม่เคลือบแคลงถึงความถูกต้องเป็นธรรม เจตนาดีของครู และพร้อมที่จะรับโทษ ครูลงโทษอย่างมีเหตุผล ไม่ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งการจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เด็กมีความอดทนพอที่จะรอรับผลที่น่าพอใจ เด็กสามารถควบคุมตนเองได้จากภายในตัวของเด็กเอง ความจำเป็นที่ต้องควบคุมจากภายนอกน้อยลง และมีเครื่องชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์พอที่จะใช้ประเมินผลได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

            จะเห็นได้ว่าคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรเร่งปลูกฝังให้แก่เยาวชน เนื่องจากผู้คนในสังคมให้ความสำคัญกับความเจริญทางด้านวัตถุ จนมองข้ามเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและความดีไป ส่งผลให้สภาพสังคมในปัจจุบันเสื่อมถดถอยลง ทำให้ประเทศชาติไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งนอกจากพ่อแม่ที่มีหน้าที่อบรมสั่งสอนเยาวชนเหล่านั้น ครูก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เยาวชน โดยการกำหนดคุณธรรมพึงประสงค์และแนวทางการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดี ซึ่งนอกจากจะสอนคุณธรรมจริยธรรมตามตำราแล้ว ครูจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน และเยาวชนได้ โดยเริ่มปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีคุณธรรมให้นักเรียนเห็นก่อน หากครูซึ่งเป็นผู้ใหญ่นั้นเป็นคนไร้คุณธรรม รับสินบน ฉ้อโกง ก็ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนได้ นักเรียนจะหมดความศรัทธา ความเชื่อถือ คิดว่าการทำผิดและการโกงเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้องเมื่อครูทำได้ เขาก็ทำได้เช่นกัน ครูจึงต้องชี้ให้เห็นว่าการทำผิด ฉ้อโกงมีผลกระทบ มีโทษทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างไร เพื่อให้เยาวชนรู้สึกละอาย เกรงกลัวต่อการทำความผิด  เมื่อครูสอนและปลูกฝังคุณธรรมแล้วควรให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างให้ติดเป็นนิสัย เกิดเป็นพฤติกรรม  เมื่อเยาวชนเหล่านี้มีคุณธรรม เขาจะเติบโตเป็นพลดีของสังคม ช่วยให้ประเทศเกิดการพัฒนา ส่งผลให้การทุจริต การฉ้อโกง คอร์รัปชั่น และความขัดแย้งในสังคมหมดไป





       วีรวิท คงศักดิ์ (2555) คุณธรรมกับสังคมไทย พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บริษัทแว่นแก้ว เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด  

       สมาคมครูสังคมศึกษาแห่งประเทศไทย (2533) แนวทางการพัฒนาค่านิยมและคุณธรรมของเยาวชนในปัจจุบัน พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ:บริษัท พี. เอ. ลีฟวิ่ง จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น