วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อบรมเชิงปฏิบัติการ วันที่ 29 ตุลาคม 2558 (ช่วงเช้า)

29/10/15
อบรมเชิงปฏิบัติการ 
เรื่อง เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 (ช่วงเช้า)

            ในการอบรมวันนี้ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ได้จัดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชและ สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย (TESOL) โดยผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้จะเป็นครูผู้สอนภาษาอังกฤษในภาคใต้ และนักศึกษาคณะครุศาสตร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3 ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาครูและนักศึกษาให้มีแนวคิดใหม่ๆในการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ประกอบอาชีพ และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ในการอบรมครั้งนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ ซึ่งในการสอนปัจจุบันนั้นจะต้องรวมทั้งทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน พร้อมกัน ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในการอบรมช่วงเช้านี้จะมีการสัมมนาเรื่อง Beyond Language Learning และการบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ


            เริ่มแรกเป็นการสัมมนาในหัวข้อ “Beyond Language Learning” เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่าง   ดร.สุจินต์ หนูแก้ว อ.สุนทร บุญแก้ว และ ผศ.ดร. ประกาศิต โดยเริ่มจากผศ.ดร. ประกาศิตซึ่งได้พูดถึงการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันว่า ในการเรียนภาษาอังกฤษนั้นมีจุดประสงค์ที่มากกว่าจะใช้สื่อสารอย่างเดียว หลายๆประเทศพยายามพัฒนาพลเมืองให้สามารถพูดภาษาอังกฤษ และแสดงความรู้ในวิชาการอื่นๆและทำงานได้ ทำให้เกิดเทคนิคการเรียนการสอนแบบใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น การสอนแบบ Problem Base Learning (PBL) ซึ่งการสอนจะประกอบไปด้วย 5C ได้แก่ Communication คือ การพูดติดต่อสื่อสาร Culture คือ มีความเข้าใจในเรื่องของวัฒนธรรมของการใช้ภาษา Connection เรียนภาษาอังกฤษเพื่อใช้กับวิชาอื่นๆได้ Comparison คือ การเปรียบเทียบภาษาและวัฒนธรรมของเราและกับต่างประเทศ และ Communitive คือ ภาษาท้องถิ่น ซึ่งครูต้องหาวิธีที่จะสอนให้ผู้เรียนมีทักษะภาษาและทักษะอื่นๆพร้อมกัน
            จากนั้น ดร.สุจินต์ หนูแก้ว ได้บรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ว่า เนื่องจากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันนักเรียนจะต้องเรียนรู้ทักษะหลายด้านเพื่อที่จะเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพในยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีคุณลักษณะ 7C ได้แก่ Critical Thinking, Creative, Culture, Co-operation, Communication, Computing, Caria and Learning skill  และมีความสามารถพื้นฐานได้แก่ การอ่านเขียน และคิดคำนวณ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะเห็นได้ว่าการที่เราจะได้ข้อมูลมานั้นก็ต้องผ่านจากการอ่าน ดังนั้น ดร.สุจินต์ และคณะจึงได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งท่านค้นพบว่าเด็กไทยในปัจจุบันนั้นขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ รับข้อมูลโดยไม่ได้ไตร่ตรองทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม ท่านจึงพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนโดยใช้ชุดฝึกหัดการคิดวิเคราะห์ ซึ่งประกอบไปด้วยการจำแนก การจัดกลุ่ม การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การให้พยากรณ์ คาดคะเน และการคาดการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนมีการคิดวิเคราะห์และรู้เท่าทันของข้อมูล
            ในส่วนของ อ.สุนทร บุญแก้ว ท่านได้พูดถึงการทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ซึ่งท่านได้ลองใช้การเรียนรู้แบบ Problem Based Learning (PBL) เป็นการนำเสนอปัญหาและวิธีแก้ไขโดยใช้ภาษาอังกฤษในการถ่ายทอดความรู้ เช่น ให้นักเรียนช่วยกันหาสาเหตุที่ทำให้ชาวต่างชาติท้องเสียจากการรับประทานอาหารอีสาน ซึ่งวิธีการเรียนแบบไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งได้เห็นจากปัจจุบันยังมีนักศึกษาบางส่วนที่ยังมีทักษะทางด้านภาษาไม่ดีเท่าที่ควร เช่น อ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง ไม่กล้าพูด และเขียนภาษาอังกฤษไม่เป็น จึงไม่สามารถนำเสนอข้อมูลวิธีแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้อให้นักศึกษาเหล่านั้นได้ใช้ภาษาอังกฤษจริงเตรียมความพร้อมนักศึกษาโดยให้นักศึกษาได้ไปใช้ชีวิตในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 3 วันซึ่งจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และเรียนภาษาอังกฤษที่นั่นโดยใช้หลักการใช้ภาษาอังกฤษให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ใช้ซ้ำๆบ่อย ผู้เรียนจะต้องมีโปรเจ็คในสิ้นเดือน คือจัดการแสดงมา 1 ชุดโดยต้องหาทุนจาการขายอาหารให้ชาวมาเลย์ ชนพื้นเมืองแถบนั้น ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนภาษาอังกฤษจากการทำงาน และเพิ่มความมั่นใจในการใช้ภาษา และสุดท้ายคือการพานักเรียนไปปล่อยที่จุดๆหนึ่งในสิงคโปร์ และให้หาทางกลับที่พักเองตามเวลากำหนด ซึ่งนักเรียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษถามทางและสื่อสารต่างๆเพื่อให้ถึงที่พัก ทำให้ผู้เรียนได้ทั้งทักษะภาษาและทักษะชีวิต และเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น แต่ในการจัดโครงการแบบนี้ต้องใช้งบประมาณเยอะ
            ต่อมาเป็นการบรรยายโดย ผศ.ดร. ศิตา เยี่ยมขันติถาวร ได้พูดถึงเหตุผลของการเรียนภาษาอังกฤษ ทำไมภาษาอังกฤษถึงสำคัญแม้จะไม่ได้เป็นภาษาที่คนใช้มากที่สุดก็ตาม ซึ่งเหตุผลนั้นคือภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้มากที่สุดในอินเทอร์เน็ต เพราะตอนนี้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น ทำให้คนเห็นความสำคัญของการใช้ภาษามากขึ้นและเมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีคำศัพท์ใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น photobomb hipster หรือ selfie ในประเทศไทยก็มีคำที่เป็นภาษาอังกฤษมาใช้แต่จริงๆแล้วไม่มีในภาษาอังกฤษ เช่น wash the film หรือล้างรูปแต่ที่จริงแล้วภาษาอังกฤษจะใช้ develop the film และคำศัพท์บางคำที่สอนในประเทศไทยแต่มักไม่ใช่ในสถานการณ์การสื่อสารจริง เช่น delicious คนไทยจะถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าแปลว่า “อร่อย” แท้ที่จริงแล้วในภาษาอังกฤษจะใช้บรรยายอาหารที่หรูหราอลังการ เป็นอาหารภัตตาคาร ไม่เคยกินมาก่อน ในชีวิตจริงถ้าอาหารอร่อยเพียงแค่พูดว่า It’s good, Beautiful! หรือ Nice! ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปการเรียนการสอนก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสอนในปัจจุบันถ้าเทียบภาษาอังกฤษเปรียบกับการป้อนอาหาร ในระดับอนุบาล ครูจะให้ข้าว น้ำ ผลไม้ และของหวานครบ แต่สิ่งที่เด็กต้องทำคือกินเอง พอประถมเราจะตัดของหวานซึ่งหมายถึงกิจกรรมออก ให้เด็กขวนขวายเอง ชั้นมัธยมให้ดึงข้าวออกแต่ให้เมล็ดพันธุ์ข้าวไป เด็กจะต้องหุงข้าวเอง เช่น การทำโครงงาน การเป็นครูที่ดีจะต้องเข้าหาพูดภาษาอังกฤษกับนักเรียน แปลให้ถูกต้อง รู้ต้นกำเนิดของคำต่างๆเพื่อสามารถอธิบายเขาได้ สอนโดยให้ใช้สมองทั้ง 2 ซีก สอนให้เป็นเรื่องราว เช่น เพลง เอนิเมชั่น จะทำให้เด็กจำได้นานมากกว่าการท่องจำ

            จากการที่ได้อบรมช่วงเช้านี้ทำให้รู้ว่าครูภาษาอังกฤษในยุคปัจจุบัน ต้องสอนผู้เรียนให้มีทักษะหลายๆด้านไม่ใช่แค่ทักษะทางภาษาเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะความสามารถตามทักษะ 7C ของคนในศตวรรษที่ 21 ครูต้องสอนให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำงาน และเรียนต่อได้ มีการคิดวิเคราะห์เป็น เห็นความสำคัญของการใช้ภาษา สามารถถ่ายทอดความรู้แขนงอื่นโดยใช้ภาษาอังกฤษได้ และเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และครูในปัจจุบันจะต้องมีความรู้รอบตัว เช่น ที่มาของคำศัพท์ และสอนโดยการใช้เทคนิควิธีที่หลากหลาย สามารถพัฒนาสมองของผู้เรียนทั้งซีกซ้ายและขวา เช่น การใช้เพลง ภาพยนตร์ การ์ตูนเป็นสื่อการเรียนรู้ และที่สำคัญคือรู้วัฒนธรรมของการใช้ภาษาอังกฤษว่าคำไหนใช้กับสถานการณ์ใด อยู่ในบริบทนี้ควรแปลอย่างไร เพื่อความหมายจะไม่ผิดเพี้ยนไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น