วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ครูที่ดีในยุคอาเซียน

ครูที่ดีในยุคอาเซียน

            เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา  ส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับความหลากหลายทั้งด้านสังคมและระบบเศรษฐกิจซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้หลายประเทศต้องเร่งเตรียมพร้อมโดยการสร้างกลไกและพัฒนาคนให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้สามารถปรับตัวและรู้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เพื่อให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและเท่าเทียม ซึ่งในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการรวมกลุ่มประเทศที่เรียกว่า “กลุ่มประชาคมอาเซียน” โดยมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ อันได้แก่ มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา อินโดนิเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งการร่วมมือของทั้ง 10 ประเทศนี้มุ่งหวังให้มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ซึ่งการศึกษาก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญขับเคลื่อนให้ก้าวไปอย่างอย่างแข็งแกร่ง และมั่นคงได้


            ในทางด้านการศึกษานั้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน จะต้องตระหนักถึงบทบาทและภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียนด้านการศึกษาซึ่งนำพาอาเซียนสู่การเป็นประชาคมที่มีความมั่นคง ให้เป็นตัวนำสำคัญในการขับเคลื่อนให้สามารถก้าวไปได้อย่างมีทิศทาง โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมเด็กไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนตามเป้าหมาย ซึ่งประเทศจะต้องเตรียมพร้อม ตั้งแต่องค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการจนถึงเหล่าบุคลากรทางการศึกษานั่นคือครู ที่จะต้องเป็นผู้พัฒนาศักยภาพของตนเองทางด้านการเรียนการสอน การทำการวิจัย  การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สร้างตนให้เป็นคนรู้เท่าทันสถานการณ์  สร้างความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่ต่างวัฒนธรรมได้และเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน พร้อมกับสร้างโอกาสเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้มากขึ้นให้สามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะครูสอนภาษาอังกฤษที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังของนักเรียนและครูหลักสูตรอื่นๆ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถทั้งด้านการสอนและเนื้อหา และมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ
            ครูภาษาอังกฤษในอนาคตของประชาคมอาเซียนนั้น จะต้องผู้ที่มีความสามารถในด้านเนื้อหา ซึ่งหมายถึงมีความรู้ทั้งด้านไวยากรณ์และคำศัพท์เพื่อสามารถใช้สอนและสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ”  หมายความว่า ประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติแต่ละชุมชนเอง ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน คู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน  ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงสำคัญ  เป็นภาษาที่ทุกคนต้องเรียนรู้ โดยครูจะต้องมีวิธีการเทคนิคในการสอนภาษาที่ดี เช่นการสอนแบบ Inductive method ที่เป็นการให้ตัวอย่างก่อนแล้วจึงอธิบายเนื้อหา ซึ่งเป็นการสอนแบบอุปนัยนั่นเอง สอนโดยให้ทฤษฎีอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติ มีเทคนิควิธีการสอนที่ทำให้ผู้เรียนจำบทเรียนได้ง่าย อย่างเช่น ท่องคำศัพท์หรือไวยากรณ์เป็นกลอนหรือเพลง ซึ่งการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กเกิดการคิดมากขึ้น และเกิดการเรียนรู้แบบ Metacognition นอกจากนี้ครูจะต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองอย่างจริงจังเพราะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วย่อมมีการแข่งขันสูงขึ้น และนอกจากมีวิธีการสอนที่ดีแล้วครูจะต้องมีความสามารถทางด้านเนื้อหา กล่าวคือครูภาษาจะต้องมีความรู้ในด้านคำศัพท์และไวยากรณ์อย่างแม่นยำเพื่อที่จะถ่ายทอดไปยังผู้เรียนได้ การเป็นครูภาษาอังกฤษที่ดีนั้น นอกจากจะเป็นผู้ที่มีความสามารถแล้วยังต้องมีทัศนะคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษอีกด้วย
            ทัศนะคติของครูที่มีต่อภาษาอังกฤษก็เป็นสิ่งสำคัญ ครูต้องคิดเสมอว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ หมายความว่า เป็นการใช้ภาษาอังกฤษของผู้ที่มีภาษาแม่อยู่แล้ว ต่อมาจึงเรียนภาษาอังกฤษ และการเรียนนี้มักจะเรียนเพื่อจุดประสงค์บางประการ เช่น เพื่อการศึกษาในระดับสูง เพื่อโอกาสที่อาจจำเป็นต้องใช้ในภายหน้าหรือต้องเรียนเพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา แต่ที่สำคัญคือ ผู้เรียนไม่ได้เรียนเพื่อนำภาษาอังกฤษไปใช้ในชีวิตประจำวัน การใช้ภาษาแบบนี้ในขณะที่เรียนภาษาต่างประเทศมักจะทำให้ผู้เรียนขาดแรงจูงใจ มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียน เพราะยังไม่มีโอกาสได้ใช้ให้เป็นประโยชน์  ทำให้มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษไม่ดีเท่าทีควร ซึ่งต่างกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง กล่าวคือได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ดังนั้นครูจึงต้องมีทัศนะคติที่ดีในภาษาอังกฤษ มองว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สำคัญเราจะต้องใช้ในอนาคตเพื่อการสื่อสารกับกลุ่มประชาคมในด้านต่างๆ และมองว่าตนจะต้องเป็นครูที่สามารถสอนได้ทุกประเทศในกลุ่มสมาชิกไม่ใช่แค่สอนได้ในประเทศไทยประเทศเดียว
            จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าครูเป็นบุคลากรสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพประชากรในประเทศให้มีคุณภาพเท่าเทียมกับกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้ โดยเฉพาะในด้านภาษา เพราะในอนาคตเราจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง นั่นคือต้องใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นครูจะต้องเตรียมพร้อมทั้งทางด้านความสามารถในการสอนอันได้แก่ มีวิธีการสอนที่ดี คือ การสอนแบบบูรณาการ ผสมผสานหลากหลายวิธีให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียน มีเทคนิคการจำคำศัพท์และไวยากรณ์ พยายามใช้วิธีการสอนที่เป็นการอุปนัย และให้เด็กได้รู้จักคิดด้วยตนเอง มีการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกลุ่มหรือครูกับนักเรียน มีความรู้ในเนื้อหาทั้งคำศัพท์และไวยากรณ์ทางภาษาที่แม่นยำ ต้องปรับทัศนะคติที่มีต่อภาษาอังกฤษใหม่ และมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล เพราะในอนาคตจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารในชีวิตประจำวันกับกลุ่มประชาคมอาเซียน ดังนั้นครูจะต้องเร่งพัฒนาตนให้มีความสามารถในการสอนอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งต้องสามารถสอนได้ทั้งประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่มองวงแคบสอนแค่ที่ใกล้บ้านหรือในประเทศของตนก็พอ และจะต้องเป็นผู้เปลี่ยนความคิด พัฒนาศักยภาพของเยาวชนในอนาคตให้มองเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษ และมีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้หากเยาวชนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ก็จะส่งผลให้ประเทศมีการพัฒนาและเติบโตไปได้อย่างเข้มแข็ง และมั่งคงไปพร้อมกลับกลุ่มประชาคมอาเซียน
















ที่มา :


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น