วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

          โครงสร้างของประโยคเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการใช้ภาษา เป็นสิ่งที่บอกผู้สื่อสารว่าควรจะนำคำศัพท์แต่ละคำมาประกอบกันอย่างไรจึงจะสื่อสารได้เข้าใจ หากนักแปลรู้แต่ความหมายของคำศัพท์ทุกคำในประโยคแต่ไม่เข้าใจโครงสร้างและความสัมพันธ์ของประโยคเลย ก็อาจจะทำให้ตีความได้ไม่ถูกต้องและเกิดปัญหาขึ้นกับผู้แปลได้ เพราะโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกันในเรื่องดังต่อไปนี้


1.  ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
          ชนิดของคำ คือ เมื่อเราสร้างประโยค เราจะเลือกใช้คำให้ตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์ ส่วนประเภทของไวยากรณ์เป็นลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ที่มักจะสัมพันธ์กับชนิดของคำ ซึ่งมีความสำคัญในภาษาอังกฤษแต่อาจจะไม่มีความสำคัญในภาษาไทยก็ได้ จึงสามารถเปรียบเทียบให้ดูได้ดังต่อไปนี้
          1.1 คำนาม
          เมื่อเปรียบเทียบคำนามระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว จะเห็นได้ว่าในภาษาอังกฤษจะมีตัวบ่งบอกถึงลักษณะดังต่อไปนี้
1.1.1 บุรุษ (person) ในภาษาอังกฤษจะมีรูปสรรพนามที่แบ่งตามบุรุษที่ 1, 2 และ 3ได้อย่างเด่นชัด แต่ภาษาไทยคำสรรพนาม 1 คำ อาจใช้ได้หลายบุรุษ
1.1.2 พจน์ (number) เป็นตัวที่บอกจำนวน ในภาษาอังกฤษจะใช้ตัวกำหนด (determiner) ในการกำหนดแต่ในภาษาไทยจะไม่มีการแยกสิ่งต่างๆตามจำนวน
1.1.3 การก (case) เป็นสิ่งที่บอกว่าคำนามคำนั้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคำอื่นในประโยค ซึ่งในภาษาอังกฤษมักจะแสดงด้วยการเรียงคำ การเติม ’s หลังคำนามเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ส่วนในภาษาไทยจะใช้การเรียงคำเช่นกัน
1.1.4 นามนับได้และนามนับไม่ได้ (countable and uncountable nouns) ซึ่งคำนามในภาษาอังกฤษนั้นจะมีการแบ่งเป็นนามนับได้ โดยเติม a/an หน้าคำนามเอกพจน์และเติม s หน้าคำนามพหูพจน์ ส่วนคำนามที่นับไม่ได้จะใช้หน่วยบอกปริมาณทำให้เป็นหน่วยเหมือนนับได้ แต่ภาษาไทยมีลักษณะนาม ดังนั้นนามทุกตัวจึงนับได้
               1.1.5 ความชี้เฉพาะ (definiteness) เป็นการแยกวามแตกต่างระหว่างนามชี้เฉพาะกับนามไม่ชี้เฉพาะ ในภาษาอังกฤษเติม the หน้านามเพื่อบ่งความชี้เฉพาะแต่ในภาษาไทยจะไม่มี เพราะเมื่อแปลแล้ว ภาษาจะดูรุงรังไม่เป็นธรรมชาติ
          1.2 คำกริยา
          การใช้คำกริยาในภาษาอังกฤษนั้นจะซับซ้อนกว่าการใช้คำนาม เนื่องจากมีประเภททางไวยากรณ์หลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.2.1 กาล (Tense) ในภาษาอังกฤษถือว่าเรื่องเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ใช้แสดงเสมอว่าประโยคเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ แต่ในภาษาไทยกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญมากนัก เพราะสามารถตีความได้จากบริบท
1.2.2 การณ์ลักษณะ (aspect) ในภาษาอังกฤษจะเป็นลักษณะของการกระทำหรือเหตุการณ์ที่มีลักษณะต่อเนื่อง ซึ่งแสดงด้วยโครงสร้าง verb to be + present participle (-ing) และเหตุการณ์ที่มีลักษณะเสร็จสิ้น จะแสดงด้วยโครงสร้าง verb to have + past participle ซึ่งกริยาต้องสัมพันธ์กับเวลา มีความสอดคล้องกันทั้งหมด และมีการเรียงลำดับการเกิดก่อนหรือหลังด้วย แต่ในภาษาไทยนั้นจะใช้คำว่า กำลังและ แล้วในการณ์ลักษณะทั้งสอง
1.2.3 มาลา (mood) เป็นคำที่มีหน้าที่แสดงทัศนคติของผู้พูดต่อเหตุการณ์ ซึ่งในภาษาอังกฤษจะแสดงโดยการเปลี่ยนรูปกริยา หรือใช้กริยาช่วย แต่ในภาษาไทยจะแสดงโดยคำกริยาช่วยและคำวิเศษณ์
1.2.4 วาจก (voice) ใช้บอกความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำ ว่าประธานเป็นผู้กระทำ (กรรตุวาจก) หรือเป็นผู้ถูกกระทำ (กรรมวาจก) ซึ่งในภาษาอังกฤษจะแสดงโดยการเปลี่ยนกริยา แต่ในภาษาไทยจะใช้กริยาช่วยเพื่อบ่งบอกกรรมวาจกในประโยค
1.2.5 กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite vs. non-finite) ในภาษาอังกฤษนั้นในหนึ่งประโยคจะมีกริยาแท้ได้เพียงกริยาเดียวเท่านั้น ส่วนกริยาอื่นๆจะต้องแสดงรูปให้เห็นว่าไม่ใช่กริยาแท้ ซึ่งต่างจากภาษาไทยที่ไม่มีการแสดงรูปกริยาที่ต่างกัน ดังนั้นการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอาจจะต้องขึ้นประโยคใหม่
1.3 ชนิดของคำประเภทอื่น
แม้อาจจะไม่สร้างปัญหาในการแปลมากนัก แต่อาจเกิดปัญหาในตัวคำศัพท์เองก็ได้ เช่น คำบุพบท ในภาษาอังกฤษสามารถนำคำเหล่านี้ไปห้อยท้ายวลีหรือประโยคได้ แต่ในภาษาไทยไม่มีโครงสร้างแบบนี้ คำวิเศษณ์ (adjective) ในภาษาอังกฤษมีการเรียงกันหลายคำหน้าคำนาม แต่ภาษาไทยจะไว้หลังคำนาม ดังนั้นเมื่อแปลจึงต้องนำมาเรียงใหม่ และในภาษาอังกฤษจะไม่มีคำลงท้าย

2. หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
          หน่วยการสร้าง (construction)  คือ หน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง เมื่อทำการเปรียบเทียบหน่วยสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้
2.1 หน่วยสร้างนามวลี ในส่วนของคำนามของภาษาอังกฤษจะต้องมีตัวกำหนด (determiner) นำหน้านามนับได้และเป็นเอกพจน์อยู่เสมอ แต่ในภาษาไทยไม่มีตัวกำหนด ส่วนขยายคำนามในภาษาอังกฤษจะอยู่หน้าคำนามหลักแต่ภาษาจะอยู่ด้านหลังคำนามหลัก
2.2 หน่วยกรรมวาจก (passive construction) ในภาษาอังกฤษมีรูปแบบที่เด่นชัด แต่ในภาษาไทยมีหลายรูปแบบ ผู้แปลจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดหน่วยสร้างกรรมวาจกภาษาอังกฤษให้อยู่ในรูปแบบภาษาไทยเสมอไป
2.3 หน่วยสร้างประโยค ในภาษาอังกฤษ การสร้างประโยคจะเน้น subject (subject-oriented language) แต่ภาษาไทยเป็นประโยคที่เน้น topic (topic-oriented language)
2.4 หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction) ในภาษาไทยจะมีโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยกริยา 2 ตัวขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่นกลางยกเว้นกรรมของกริยาตัวหน้าซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ

          หากผู้แปลได้ตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างทางโครงสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จะช่วยลดปัญหาในการแปล และจะได้ผลงานแปลที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด      









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น