วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล


บทที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล
ความสำคัญของการแปล
        ในปัจจุบันนี้ ผู้คนใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการอธิบายสิ่งต่างๆ และสื่อสารติดต่อกับคนทั่วโลก ทำให้ภาษาอังกฤษมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การแปลมีความสำคัญมากขึ้นด้วย เพราะในบางครั้งผู้ที่จะติดต่อกับชาวต่างชาติมีทักษะทางภาษาไม่เพียงพอ จึงต้องให้นักแปลเข้ามาช่วยเพื่อช่วยประหยัดเวลา และสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สาเหตุที่มีการใช้ภาษาอังกฤษในหน่วยงานต่างๆมากที่สุด คือ หน่วยงานต่างๆมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากขึ้น และมีตำรา เอกสารหลากหลายสาขาวิชาที่เป็นภาษาอังกฤษให้ศึกษาหาความรู้ จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าการแปลนั้นสำคัญ เป็นสิ่งที่ทำให้คนสองประเทศเข้าใจกันได้และสามารถยึดเป็นอาชีพเพื่อสร้างชื่อเสียงให้นักแปลได้ ดังนั้น นักแปลจะต้องหมั่นฝึกฝน ตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ เพื่อให้มีประสบการณ์ ความรู้ในด้านศัพท์เฉพาะ และถ่ายทอดผลงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ



การแปลในไทย
          ในประเทศไทยเริ่มมีการแปลมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช มีการสอนภาษาอังกฤษ ฝึกนักแปล และมีการแปลเอกสารต่างๆ ในรัชสมัยราชกาลที่ 5 จากนั้นการแปลภาษาก็เริ่มมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเมือง วิชาการ และการท่องเที่ยว เพราะทำให้มีการติดต่อกันได้อย่างสะดวก ช่วยลดความไม่เข้าใจอันเนื่องมาจากความต่างของภาษาและวัฒนธรรม ช่วยให้เข้าใจเมื่อปรึกษาชาวต่างชาติในการพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้ได้ศึกษาตำราสาขาต่างๆจากต่างชาติ ทำให้ชาวต่างชาติรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยเมื่อมาท่องเที่ยว และสร้างความเข้าใจจนเกิดสันติภาพโลก ดังนั้นการแปลจึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ต้องแปลให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร เพราะการแปลมีความสำคัญต่อความก้าวหน้า และการพัฒนาประเทศ

การแปลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          ในการแปลทางด้านนี้ จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนักแปลควบคู่กันเพื่อป้องกันการแปลที่ผิดพลาด โดยผู้แปลจะต้องมีความสนใจในสาขาวิชานั้นๆ หมั่นติดตามงานวิชาการ สะสมความรู้คำศัพท์เฉพาะ เพื่อที่ผู้แปลสามารถใช้ภาษาได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง มีความเหมาะสม คุ้มค่าในเรื่องของเวลากับประโยชน์ในการแปล

การสอนแปลในระดับมหาวิทยาลัย
          การสอนแปลนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักแปลที่มีคุณภาพ ผู้สอนจึงต้องศึกษาหาข้อมูลจากนักแปลอาชีพในสาขาต่างๆเพื่อกำหนดหลักสูตร ในทฤษฎีในวิชานี้มีความเกี่ยวเนื่องกับทักษะในการอ่านและการเขียน จึงต้องมีการฝึกจนเกิดความชำนาญ โดยการสอนต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมให้มีการค้นคว้าจากแหล่งวิชาการต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักแปลอาชีพเพื่อสร้างประสบการณ์ และเตรียมตัวในการแปลจริงๆ
          ผู้ที่แปลได้ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ทางภาษาอย่างดี ดังนั้นในการสอนแปลจึงมีการสอนไวยากรณ์ โครงสร้างทางภาษา การใช้ภาษา และการอ่านเพื่อความเข้าใจ เพื่อที่นักศึกษาสามารถอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างไม่มีปัญหาทั้งในภาษาของต้นฉบับและภาษาที่ใช้แปล

ความหมายของการแปล
          การแปลเป็นการถ่ายทอดความคิดจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งโดยให้มีใจความครบถ้วนสมบูรณ์ดั่งต้นฉบับทุกประการ เป็นทักษะพิเศษที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์อันได้แก่ การใช้ถ้อยคำสำนวน การรู้เนื้อหาที่แปลอย่างลึกซึ้ง แต่การแปลวรรณคดีและร้อยกรองนั้นจะต้องอาศัยจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถ ความรู้และประสบการณ์ของผู้แปล

บทบาทการแปล
          การแปลเป็นทักษะที่พิเศษ โดยมีผู้แปลเป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร เพราะในการสื่อสารหากผู้รับสารได้รับสารโดยตรงอาจจะเกิดการเข้าใจที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นผู้แปลจึงมีบทบาทที่สำคัญในการสื่อสาร

คุณสมบัติของนักแปลที่ดี
          การจะเป็นผู้แปลที่ดีได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านภาษาของต้นฉบับและภาษาที่แปลเป็นอย่างดี มีความเข้าใจเนื้อหาที่แปลและพฤติกรรมของผู้เขียนต้นฉบับ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย มีศิลปะในการใช้ภาษา มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรอบรู้ทั้งความรู้ทั่วไปและด้านเฉพาะสาขา รักการอ่าน หมั่นค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆเพิ่มเติมตลอดเวลา มีความตั้งใจ มั่นใจ อดทนเสียสละ และเพียรพยายามในการฝึกฝนเพื่อปรับปรุงแก้ไขทักษะของตน ใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความรับผิดชอบ รู้จักใช้ความคิดของตน มีความละเอียดรอบคอบ ระมัดระวังการใช้ภาษา รู้วัฒนธรรมของเจ้าของภาษา และมีจรรยาบรรณของนักแปล

ลักษณะงานแปลที่ดี
          งานแปลที่ดีนั้นควรจะมีเนื้อหาและความหมายตรงตามต้นฉบับอย่างครบถ้วน ใช้ภาษาที่ชัดเจน กระชับ เปรียบเทียบได้เหมาะสมและสละสลวย ใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติไม่ติดสำนวนฝรั่ง เป็นปัจจุบันและเข้าใจง่าย ใช้ศัพท์เทคนิคที่เหมาะสมตรงกับสาขาเฉพาะ เป็นการแปลแบบตีความ เก็บความเรียบเรียงใหม่ ไม่แปลคำต่อคำ มีการรักษาโครงสร้างทางภาษาและสไตล์การเขียนของต้นฉบับเอาไว้

การให้ความหมายการแปล
          ในการให้ความหมายในแต่ละประโยค จะมีการพิจารณาถึงรูปแบบของกาล 2 รูปแบบคือรูปแบบ ปัจจุบันกาล (Simple Present) ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นนิสัย การกระทำที่เป็นกฎของธรรมชาติ สถานภาพที่เป็นอยู่ และอนาคตกาล (Progressive Present) ซึ่งเป็นการกระทำที่กำลังจะดำเนิน บ่งบอกถึงอนาคต พิจารณาโครงสร้างทางประโยคและไวยากรณ์ พิจารณาการใช้ศัพท์เฉพาะ พิจารณาการตีความทำนายโดยคำนึงถึงความหมายเหมือนกันในรูปประโยคที่ต่างกันในภาษาเดียวกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างและระบบของภาษา และพิจารณาจากบริบทโดยดูสภาพที่เป็นอยู่ของประโยคจากนั้นแปลเป็นความคิดรวบยอดและสรุปความหมายได้

การวิเคราะห์ความหมาย
          ในการวิเคราะห์ความหมายมีองค์สิ่งที่ต้องนำมาใช้อยู่ 3 ส่วน ได้แก่
1. องค์ประกอบของความหมาย
          ในภาษาแต่ละภาษาจะต้องมีระบบที่แสดงความหมาย ซึ่งประกอบไปด้วยคำศัพท์ เป็นคำที่ผู้ใช้ภาษายอมรับโดยความหมายของคำแต่ละคำจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทต่างๆ ไวยากรณ์ เป็นแบบแผนการจัดเรียงคำในภาษา และเสียงเป็นการนำเสียงที่มีความหมายมารวมกันอย่างมีระบบระเบียบ ทำให้เกิดหน่วยที่มีความหมายที่เรียกว่าคำ หรือคำศัพท์นั่นเอง
2.  ความหมายและรูปแบบ
ในแต่ละภาษา ประโยคความหมายหนึ่งอาจจะมีหลายรูปแบบ โดยใช้รูปประโยคหรือคำที่ต่างกัน หรือประโยครูปแบบเดียวอาจจะมีหลายความหมายไม่ตายตัว ซึ่งแต่ละประโยคขึ้นอยู่กับบริบทเป็นสำคัญ
3.  ประเภทของความหมาย
นักภาษาศาสตร์ได้กำหนดประเภทของความหมายออกเป็น 4 ประเภทได้แก่
3.1 ความหมายอ้างอิง เป็นความหมายโดยตรงที่อ้างอิงถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม
3.2 ความหมายการแปล เป็นความรู้สึกทางอารมณ์ของผู้อ่าน ผู้ฟัง ซึ่งอาจอยู่ในทางบวกหรือลบก็ได้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของภาษาและภูมิหลังของแต่ละคน
3.3 ความหมายตามบริบท เป็นการให้ความหมายได้หลายความหมาย โดยพิจารณาจากบริบทที่แวดล้อมคำนั้นทั้งหมด
3.4 ความหมายเชิงอุปมา เป็นความหมายที่เกิดจากการเปรียบเทียบทั้งแบบเปิดเผยและแบบโดยนัย โดยการเปรียบเทียบประกอบไปด้วย สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบ สิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ และประเด็นของการเปรียบเทียบ

การเลือกบทแปล
          การเลือกบทแปลจะต้องเลือกตามวัตถุประสงค์ของสอนการแปล เพื่อให้ได้ซึ่งความหลากหลายของประเภทงานเขียน ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความบกพร่องของตน ได้ความรู้ทั้งด้านทักษะภาษาและเนื้อหาด้วย การเลือกเรื่องที่จะแปลควรเลือกหนังสือที่เป็นหลักวิชาการที่ผ่านการยอมรับกันในสาขาวิชานั้นๆ         









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น